ตำนานลูกหนัง : ‘ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์’ ตำนานที่คนรุ่นหลังต้องศึกษา (Part 2)
หลังจากที่เราได้รู้ถึงเกียรติประวัติของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ไปแล้วในช่วงตอนที่ยังเป็นนักเตะ ซึ่งหลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่า ตำนานของ ‘เสือใต้’ ได้หันมารับงานเป็นกุนซือให้กับทีมชาติเยอรมนี และประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
หากคุณอยากรู้ว่าบทบาทใหม่ที่เขาสร้างความฮือฮาให้กับโลกของฟุตบอล ที่ยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบันอย่างไรกันบ้าง ติดตามไปพร้อมกันกับผมได้ที่นี่เลย
หลังจากที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ปิดฉากเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ โดยเขาลงเล่นไปกว่า 754 นัดรวมทุกรายการ ทั้งในสมัยที่อยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค, นิวยอร์ก คอสมอส รวมถึง ฮัมบูร์ก เจ้าตัวได้หันไปเอาดีด้านการเป็นผู้จัดการทีม แต่เขาไม่มีดีกรีหรือไลเซนส์ใด ๆ ในฐานะโค้ชฟุตบอล แต่กลับได้งานกุนซือระดับเมเจอร์ในช่วงไม่กี่ปีภายหลังแขวนสตั๊ด กับบทบาท ‘ทีมเชฟ’ แห่งเยอรมนีตะวันตก
จากความล้มเหลวของทัพ ‘อินทรีเหล็ก’ ที่ตกรอบแรกใน ยูโร 1984 ทำเอาสหพันธ์ลูกหนัง เดเอฟเบ ประกาศปลด จุปป์ แดรวัลล์ พ้นจากตำแหน่ง
ในเวลาต่อมาสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน ลิสต์รายชื่อกุนซือที่มีดีกรีเหมาะสมมารับเผือกร้อน แต่ว่าทุกคนที่อยู่ในโผยังมีพันธะผูกพันอยู่กับสโมสรสังกัด อย่าง เฮลมุต เบนเฮาส์ ของ สตุ๊ตการ์ต ที่เพิ่งคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา ในฤดูกาลคาบเกี่ยว ขณะที่ตัวของ เบคเคนบาวเออร์ ไม่ได้มีบทบาทเป็นโค้ชให้ทีมใด เพราะส่วนหนึ่งก็เพราะว่ายังไม่มีใบอนุญาตด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่เขามีติดตัวนั่นคือ ‘บารมี’ ของการเป็นสุดยอดนักเตะระดับโลก ที่ใคร ๆ ต่างก็ยอมรับ จนเป็นเหตุให้องค์กรลูกหนังของเยอรมัน ตัดสินใจแต่งตั้งเข้ามาเป็นกุนซือ โดยเซ็นสัญญากันแค่ระยะสั้นให้คุมทีมลุยฟุตบอลโลก 1986 แค่นั้นพอ
ทว่าการเข้ามาแบบฉุกละหุกของตำนาน ‘เสือใต้’ ไม่ทันได้ไปอบรมโค้ชหรือได้ดีกรีใด ๆ มา และด้วยความเป็นระบบระเบียบของฟุตบอลเยอรมัน ที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิม แน่นอนว่าการจะเข้ามาเป็นโค้ชทีมชาติชุดใหญ่ก็จำเป็นต้องมีไลเซนส์
เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ทาง เดเอฟเบ จึงแต่งตั้งให้ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ทำหน้าที่เป็น ‘ทีมเชฟ’ ไม่ได้ใช้คำเชิงผู้จัดการทีมชาติโดยตรง ถือเป็นการอะลุ่มอล่วยไปก่อน
กระนั้น ‘แดร์ ไกเซอร์’ กลับทำผลงานได้เกินคาด เมื่อเขานำลูกทีมไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลก 1986 โดยนัดชิงชนะเลิศพ่ายต่อทีมชาติอาร์เจนติน่า ที่มีตัวชูโรงอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า ด้วยสกอร์ 2-3
ยังไม่นับเรื่องความเด็ดขาดด้านการจัดการทีมที่เห็นผลดีมากมายตลอดทัวร์นาเมนต์ อาทิ การเน้นย้ำถึงความสำคัญของระเบียบวินัย การแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา ให้คุยกันเป็นการภายใน หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์กับสื่อให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีประเด็นเกิดขึ้นนอกสนาม
ตลอดจนการใช้แท็คติกการเล่นแบบใหม่ ๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นมา อย่างการนำระบบ ‘ลิเบโร’ ที่ถูกจารึกในสมัยเป็นนักเตะมาสู่ทีมชาติ โดยเฉพาะยามที่ทีมเล่นเกมรับ จะปรับการยืนเป็นระบบ 5-3-2 เช่นเดียวกับการใช้งานผู้เล่นผสมผสานระหว่างนักเตะประสบการณ์สูงและดาวรุ่งอนาคตไกลรวมอยู่เป็นทีมเดียวกัน
ผลลัพธ์ที่ผลิดอกให้เห็นตั้งแต่เวที เวิลด์ คัพ สมัยแรกของเขากลายเป็นทีมเชฟของชาติแบบเต็มตัว ผลงานต่อจากนั้นก็มีทั้งการไปถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลยูโร 1988 (พ่ายต่อ เนเธอร์แลนด์ ยุค 3 ทหารเสือ อย่าง รุด กุลลิต, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด และ มาร์โก้ ฟาน บาสเท่น)
แต่เวลาต่อจากนั้น ทัพ ‘อินทรีเหล็ก’ ก็กลายเป็นชาติที่น่าจับตามองมากที่สุดชาติหนึ่งในสารบบฟุตบอลโลก เพราะพวกเขาอุดมไปด้วยสุดยอดนักเตะที่เฉิดฉายขึ้นมาในวงการลูกหนังเมืองเบียร์
ที่สุดแล้วทีมชุดนี้ก็มาเถลิงแชมป์ฟุตบอลโลก เป็นสมัยที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ แถมยังเป็นการล้างแค้นคู่ปรับเมื่อ 4 ปีก่อนอย่าง อาร์เจนติน่า เสียด้วย ทำให้ เบคเคนบาวเออร์ กลายเป็นคนที่ 2 ที่พาทีมคว้าถ้วยฟุตบอลโลก ทั้งในฐานะนักเตะและกุนซือต่อจาก มาริโอ ซากัลโล่ ของ บราซิล
จากนั้นเจ้าตัวก็ลองมาชิมลางเป็นกุนซือระดับสโมสรบ้าง เริ่มจาก โอลิมปิก มาร์กเซย ในเวทีลีกเอิง ซึ่งเขาก็พาสโมสรเป็นแชมป์ลีก 1 สมัย ในฤดูกาล 1990/91 ก่อนที่เขาจะกลับมาอยู่บ้านหลังเก่าอย่าง บาเยิร์น มิวนิค อีกครั้งในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนแบบชั่วคราว
โดยคราวนี้ก็ยังเฉิดฉายไม่เสื่อมคลาย กับการพาทีมเป็นทั้งแชมป์ บุนเดสลีกา และ ยูฟ่า คัพ รวมแล้วคุมทัพ ‘เสือใต้’ ไป 19 นัด ชนะถึง 12 เกม
หลังจากที่พวกเราได้ศึกษาตำนานของ ‘อินทรีเหล็ก’ อย่าง ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ แล้ว ผมพูดได้คำเดียวเลยว่า ‘มันน่าเหลือเชื่อมาก’ ที่คนคนเดียวจะทำอะไรให้กับประเทศชาติบ้านเกิดได้เยอะขนาดนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ผมยังคิดไม่ออกเลยว่า ใครจะทำแบบเขาได้อีกไหมในโลกลูกหนัง
เขียนโดย LS Sport
ข่าวกีฬาคนรุ่นใหม่ 24 ชั่วโมง