TOP 50 นักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก (อันดับที่ 11-20)
TOP 50 นักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก (อันดับที่ 11-20)
อันดับที่ 20: เลฟ ยาชิน (Lev Yashin)
จุดพีค: 1960-1965
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1963), แชมป์ยูโร (1960), เหรียญทองโอลิมปิก (1956), แชมป์โซเวียต ท็อป ลีก 5 สมัย, แชมป์โซเวียตคัพ 3 สมัย, บัลลงดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล
ตลอดอาชีพการค้าแข้งกว่า 20 ปีของ ยาชิน นั้น เขาสวมเสื้อเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้นคือ ดินาโม มอสโก ในนามสโมสรและ สหภาพโซเวียต ในนามทีมชาติ โดยที่ลงเฝ้าเสารวมกันกว่า 400 นัดและเก็บคลีนชีตได้มากถึง 270 ครั้ง รวมถึงการที่เซฟจุดโทษได้มากถึง 151 ครั้งตลอดการทำหน้าที่หน้าปากประตู
ด้วยผลงานอันโดดเด่นทำให้เขากลายเป็นผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวจนถึงตอนนี้ที่สามารถคว้ารางวัล บัลลงดอร์ มาครองไว้ได้เมื่อปี 1963 นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากทาง ฟีฟ่า ด้วยการใช้ชื่อของเขามาเป็นรางวัลให้กับนายทวารที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในปีนั้น ๆ อีกด้วย
แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายทศวรรษ ก็ยังไม่มีผู้รักษาประตูคนไหนที่โดดเด่นกว่า ยาชิน ด้วยการมีชื่ออยู่ในโผของการจัดอันดับเกือบทุกสำนักมาจนถึงตอนนี้
อันดับที่ 19: บ็อบบี้ มัวร์ (Bobby Moore)
จุดพีค: 1964-68
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1966), ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ (1964-65), เอฟเอคัพ (1963-64), ติดทีมยอดเยี่ยมยุโรป 6 ครั้ง, ติดทีมยอดเยี่ยมประจำปี นิตยสาร World Soccer 5 ปีติดต่อกัน
นี่คือชายผู้เป็นกัปตันทีมให้กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ยาวนานกว่า 10 ปี ด้วยการเติบโตจากการเป็นลูกหม้อของสโมสร และลงเล่นไปกว่า 600 เกมตลอดระยะเวลา 16 ปีให้กับทีมชุดใหญ่ในถิ่น อัพตัน พาร์ค
นอกจากนี้เขายังได้สวมปลอกแขนให้กับทีมชาติอังกฤษด้วยวัยเพียง 23 ปี และยังสามารถพานำทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาได้เมื่อปี 1966 บนผืนแผ่นดินของตัวเอง
มัวร์ โดดเด่นด้วยสไตล์การเล่นที่แตกต่างจากปราการหลังคนอื่น ๆ ในยุคก่อน ด้วยการเล่นที่นิ่งและเยือกเย็น เน้นการอ่านจังหวะบอลมากกว่าที่จะเข้าปะทะด้วยความดุดัน โดยที่ตัวของ ฟร้านซ์ เบคเค่นบาวเออร์ และ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังถึงกับเคยเอ่ยปากชื่นชม
แม้ว่าเขาจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักในระดับสโมสร แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญต่อวงการฟุตบอลอังกฤษ โดยที่มีชื่อเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศเมื่อปี 2002 รวมถึงมีรูปปั้นของเขาตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้าของสนาม เวมบลีย์ อีกด้วย
อันดับที่ 18: การ์รินชา (Garrincha)
จุดพีค: 1962
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1962), แชมป์โลก (1958, 1962), นักเตะยอดเยี่ยมฟุตบอลโลก (1962), ดาวซัลโวฟุตบอลโลก (1962), บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Silver)
การ์รินชา คือนักเตะระดับสุดยอดของทีมชาติบราซิล โดยเมื่อใดที่เขาได้ลงเล่นร่วมกับ เปเล่ เมื่อนั้นทีมชาติของพวกเขาไม่เคยปราชัยเลยแม้แต่เกมเดียว
ในระหว่างที่ ‘ไข่มุกดำ’ ได้รับบาดเจ็บ เจ้าตัวก็ได้กลายเป็นกำลังหลักให้กับ ‘แซมบ้า’ และยังเป็นนักเตะคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์, นักเตะยอดเยี่ยม และดาวซัลโว ได้ในทัวร์นาเม้นต์เดียวกัน ซึ่งก็คือฟุตบอลโลกเมื่อปี 1962
แม้ว่าตลอดอาชีพการค้าแข้งของเจ้าตัวจะวนเวียนอยู่แต่ในบ้านเกิด แต่ก็ยังได้รับการถูกจับอันดับจาก ฟีฟ่า ให้อยู่อันดับที่ 7 ท่ามกลางนักเตะร่วม 100 รายเมื่อปี 1999 นอกจากนี้ชื่อของเขายังถูกนำไปใช้กับสนามกีฬาแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในบราซิลเลีย เมืองหลวงของประเทศบราซิลอีกด้วย
อันดับที่ 17: ซิโก้ (Zico)
จุดพีค: 1977-1982
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์บราซิล เซเรียอา 3 สมัย, แชมป์โคปา ลิเบอร์ตาดอเลส (1981), แชมป์อินเตอร์คอนติเนลทัล (1981), แชมป์เจลีก (1993), นักเตะยอดเยี่ยมอเมริกาใต้ 3 สมัย, ดาวซัลโว โคปา ลิเบอร์ตาดอเลส (1981), บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Silver)
นี่คือนักเตะที่ถูกยกย่องว่าเก่งที่สุดในช่วงปลายทศวรรษ 70 จนถึงช่วงต้น 1980 ด้วยทักษะในการเล่นเกมรุกที่ยอดเยี่ยมของเขา ทำให้หลายคนตั้งฉายาให้กับเขาว่า ‘เปเล่ขาว’
ซิโก้ เป็นเพลย์เมคเกอร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์, จ่ายบอลได้อย่างชาญฉลาด และจบสกอร์ได้อย่างเฉียบคม รวมถึงยังมีทีเด็ดในการยิงฟรีคิกที่เคยมีการประเมินว่า เขาเป็นผู้เล่นที่ทำประตูจากลูกฟรีคิกได้มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 101 ประตู
แม้ว่าเจ้าตัวจะผ่านการลงเล่นในฟุตบอลโลกถึง 3 สมัย เมื่อปี 1978, 1982 และ 1986 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นแข้งชาวบราซิลที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยคว้าแชมป์โลกมาได้
อันดับที่ 16: โรนัลดินโญ่ (Ronaldinho)
จุดพีค: 2002-2008
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (2005), แชมป์โลก (2002), แชมป์โคปา อเมริกา (1999), แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 1 สมัย, แชมป์ลาลีกา 2 สมัย, แชมป์เซเรียอา 1 สมัย, แชมป์โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส 1 สมัย, บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Silver)
นี่คือบุคคลที่มาเขย่าเวทีฟุตบอลโลกเมื่อปี 2002 ด้วยลีลาการเล่นที่แพรวพราว หาตัวจับยาก โดยเจ้าตัวเป็นกำลังสำคัญในแนวรุกร่วมกันกับ โรนัลโด้ และ ริวัลโด้ ทำให้ทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกมาได้ในปีดังกล่าว
จากความโดดเด่นในครั้งนั้น ทำให้ ‘เหยินน้อย’ ได้ย้ายไปร่วมทีม บาร์เซโลน่า และสร้างปรากฏการณ์ในถิ่น คัมป์นู ด้วยการคว้าแชมป์ลาลีกา 2 สมัยและ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีก 1 สมัย ด้วยอิมแพ็คที่เจ้าตัวมีต่อ ‘บาร์ซ่า’ ทำให้เขาได้รับรางวัล บัลลงดอร์ เมื่อปี 2005 รวมถึงนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) อีก 2 ครั้งในปี 2004, 2005
นอกจากนี้ฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมในเกม เอล กลาซิโก้ ในฤดูกาล 2005-06 ทำให้ โรนัลดินโญ่ กลายเป็นนักเตะคนที่ 2 ต่อจาก ดิเอโก้ มาราโดน่า ที่แฟนบอล เรอัล มาดริด ถึงกับต้องปรบมือให้ทั่วทั้งสนาม ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว
อันดับที่ 15: เปาโล มัลดินี่ (Paolo Maldini)
จุดพีค: 1994-2003
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย, แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 5 สมัย, แชมป์เซเรียอา 7 สมัย, แชมป์โคปา อิตาเลีย 1 สมัย, หอเกียรติยศ เอซี มิลาน, ติดทีมยอดเยี่ยม 17 รายการ,บัลลงดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล
มัลดินี่ คือ ‘วันแมนคลับ’ ตัวจริงเสียงจริง โดยตลอดทั้ง 25 ฤดูกาลกับ เอซี มิลาน เขาคว้าแชมป์ได้ถึง 26 ถ้วย รวมถึงยังเคยถือครองสถิติลงเล่นใน เซเรียอา มากที่สุดด้วยจำนวน 647 นัด
นอกจากนี้ กับในนามทีมชาติอิตาลี เขายังลงรับใช้ทีมมาถึง 14 ปีด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าตัวก็เคยเป็นคนที่ได้สถิติลงเล่นมากที่สุดด้วยเช่นกัน ด้วยจำนวน 126 นัด รวมถึงการได้สวมปลอกแขนนำทีมถึง 75 เกม แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จกับ ‘อัซซูรี’ ในทัวร์นาเม้นต์ระดับเมเจอร์ แต่ก็พาทีมไปถึงรอบรองชนะเลิศของฟุตบอลโลก 1990 และ ยูโร 1988 รวมถึงการไปถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1994 และ ยูโร 2000 และติดทีมยอดเยี่ยมมาแล้วเกือบทุกทัวร์นาเม้นต์
เขาถูกยกย่องให้เป็นตำนานของ ‘รอสโซเนรี’ อย่างแน่นอน ด้วยการลงเล่นกว่า 902 นัดรวมทุกรายการ ถึงกระทั่งเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2008-09 ที่ มัลดินี่ แขวนสตั๊ด สโมสรก็ตัดสินใจรีไทร์เสื้อหมายเลข 3 ที่เขาสวมใส่มาโดยตลอด
อันดับที่ 14: โรนัลโด้ (Ronaldo)
จุดพีค: 1997-2003
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลังดอร์ (1997, 2002), แชมป์โลก (1994, 2002), แชมป์โคปา อเมริกา 2 สมัย, แชมป์ ยูฟ่าคัพ 1 สมัย, แชมป์ลาลีกา 1 สมัย, รางวัลดาวยิงสูงสุด & รองเท้าทองคำ 8 รายการ, นักเตะยอดเยี่ยม 30 รายการ, ติดทีมยอดเยี่ยม 17 รายการ, บัลลังดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล
‘El Phenomenon’ คือ นักเตะระดับปรากฏการณ์แห่งโลกฟุตบอล ที่สร้างมิติใหม่ให้กับผู้เล่นในตำแหน่งศูนย์หน้า และเป็นบุคคลที่ทำลายสถิติค่าตัวถึง 2 ครั้ง กับการย้ายไปยัง บาร์เซโลน่า และ อินเตอร์ มิลาน
นอกจากนี้ เจ้าตัวยังคงถือครองสถิติการเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่สามารถคว้า บัลลงดอร์ มาครองได้ด้วยวัยเพียง 21 ปี ก่อนที่จะคว้ารางวัลดังกล่าวมาได้อีกหนในปี 2002 ซึ่งเป็นปีที่เขาพาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาได้
แม้ว่า โรนัลโด้ จะประสบกับปัญหาเรื่องของความฟิตอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้จำนวนประตูไม่เยอะเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี โดยยิงไปถึง 352 ประตู กับการลงเล่น 4 ลีกทั้งในอเมริกาใต้และยุโรป รวมถึงยามที่ลงเล่นให้กับ ‘แซมบ้า’ ที่เขาซัดไปถึง 62 ประตู จากการลงเล่น 98 นัด และรั้งเป็นดาวซัลโวอันดับ 3 ให้กับบ้านเกิด
ด้วยผลงานสมัยที่ยังค้าแข้ง ทำให้เขาได้มีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศเกือบทุกที่ที่เคยลงเล่นให้ ทั้งกับทีมชาติบราซิล, อินเตอร์ มิลาน และ เรอัล มาดริด
อันดับที่ 13: จอร์จ เบสต์ (George Best)
จุดพีค: 1968
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1968), ยูโรเปี้ยนคัพ 1 สมัย, แชมป์ลีกอังกฤษ ดิวิชั่นหนึ่ง 2 สมัย, ดาวซัลโวลีกอังกฤษ 1 สมัย, บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Bronze)
ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลาและไลฟ์สไตล์แบบเพลย์บอย ทำให้นักเตะรายนี้ได้รับฉายาว่า ‘ปีกเทพบุตร’ และถือเป็นนักฟุตบอลระดับเซเลบริตี้คนแรก ๆ ของโลก
เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพการค้าแข้งอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และได้ประเดิมสนามให้กับทีมด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น โดยที่ค้าแข้งในถิ่น โอลด์ แทรฟฟอร์ด ยาวนานถึง 11 ปี พร้อมฝากผลงานการลงสนาม 470 นัดและทำได้ 179 ประตู และยังเป็นนักเตะที่ ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ ยอมรับว่า เขารู้สึกตัวเองโง่ทุกครั้งที่เผชิญหน้าด้วย
เขายังเป็นกำลังสำคัญของทีมร่วมกับ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ เดนิส ลอว์ พาทีมคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยนคัพ มาครองได้เป็นสมัยแรกเมื่อปี 1968 ก่อนที่จะได้รับรางวัล บัลลงดอร์ มาได้ในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตามกับทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ เจ้าตัวได้ลงเล่นไปเพียง 37 นัดเท่านั้น และด้วยคุณภาพของเพื่อนร่วมทีม ทำให้ เบสต์ ไม่เคยได้ลงเล่นในทัวร์นาเม้นต์ระดับเมเจอร์เลยแม้แต่หนเดียว
อันดับที่ 12: ยูเซบิโอ (Eusebio)
จุดพีค: 1968-1973
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1965), ยูโรเปี้ยนคัพ 1 สมัย, แชมป์ลีกโปรตุเกส 11 สมัย, แชมป์ฟุตบอลถ้วยโปรตุเกส 5 สมัย, ดาวซัลโวยูโรเปี้ยนคัพ 3 สมัย, ดาวซัลโวลีกโปรตุเกส 7 สมัย, รองเท้าทองคำยุโรป 2 สมัย
นี่คือเจ้าของฉายา ‘เสือดำแห่งโมซัมบิก’...
นี่คือโคตรดาวยิงของทีมชาติโปรตุเกส ก่อนที่ CR7 จะลืมตาขึ้นมาดูโลก…
และนี่คือตำนานที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาของ เบนฟิก้า ด้วยการครองสถิติผู้ทำประตูสูงสุดให้กับสโมสร ด้วยจำนวน 473 ประตูจากการลงเล่น 440 นัด
เขายังพาสโมสรคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 11 ครั้ง รวมถึงแชมป์ ยูโรเปี้ยนคัพ ได้อีก 1 หน เมื่อปี 1962 และได้กลายเป็นผู้เล่นคนแรกที่คว้ารางวัลรองเท้าทองคำของลีกยุโรปมาเมื่อปี 1968 ก่อนที่จะทำได้อีกครั้งในปี 1973 จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ตำนานนักเตะอย่าง อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ ออกมาเชิดชูเขาว่า เป็นนักเตะที่เก่งที่สุดตลอดกาลเท่าที่เคยเห็นมา
แม้ว่ากับทีมชาติโปรตุเกสจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยทำได้เพียงคว้าอันดับ 3 มาครองในฟุตบอลโลกปี 1966 แต่ก็ยังคว้าดาวซัลโวของทัวร์นาเม้นต์มาได้ด้วยจำนวน 9 ประตู และยังเป็นแข้ง ‘ฝอยทอง’ ที่ยิงในฟุตบอลโลกได้มากที่สุดอีกด้วย
อันดับที่ 11: ดิเอโก้ มาราโดน่า (Diego Maradona)
จุดพีค: 1984-88
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1986, 1990), แชมป์โลก (1986), แชมป์ เซเรียอา 2 สมัย, แชมป์โคปปา อิตาเลีย 1 สมัย, แชมป์ยูฟ่าคัพ 1 สมัย, แชมป์โคปา เดล เรย์ 1 สมัย, นักเตะยอดเยี่ยมฟุตบอลโลก (1986), บัลลงดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล
ตำนานเพลย์เมคเกอร์ของปวงชนชาวอาร์เจนไตน์ ที่มีส่วนผสมทุกอย่างที่นักเตะหมายเลข 10 พึงมี ทั้งการจ่ายบอล, ครองบอล และเลี้ยงบอล โดยที่นอกเหนือจากการสร้างสรรค์เกมแล้ว ยังมีทีเด็ดในเรื่องการทำประตู รวมถึงการเล่นลูกนิ่งอีกด้วย
นี่คือนักเตะคนแรกของโลกที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวด้วยค่าตัวสถิติโลกถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการย้ายไป บาร์เซโลน่า เมื่อปี 1982 และ นาโปลี เมื่อปี 1984 โดยเฉพาะกับสโมสรในแผ่นดินอิตาลี สถานที่ที่ทำให้เขาได้กลายเป็นตำนานและสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองได้มากที่สุด ด้วยการพาทีมคว้า สคูเด็ตโต้ สมัยแรก และมากำราบ เอซี มิลาน ในยุค ‘สามทหารเสือ’ อีก 1 สมัย จนถึงกับมีการนำชื่อของเขาไปใช้เป็นชื่อของสนามเหย้า
มาราโดน่า ผ่านการลงเล่นฟุตบอลโลกมากถึง 4 ครั้ง และเป็นกัปตันนำทีมคว้าแชมป์มาได้เมื่อปี 1986 โดยที่ครั้งนั้นมีเรื่องราวเล่าขานมาจวบจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็คือการใช้มือชกบอลทำประตูใส่ทีมชาติอังกฤษ ที่ถูกเรียกว่า ‘หัตถ์พระเจ้า’ นั่นเอง