The Blue House: โครงสร้างใหม่ที่ต้องใช้เวลาของ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์
ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ได้ทำการปรับโครงสร้างสโมสรใหม่ทั้งหมด โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา 2 ซีซั่น เป็นตัวชี้วัดใหม่
ส่วนแรกที่ผมจะพูดถึง คือ นโยบายการซื้อขายผู้เล่น แต่ละดีลของ ‘สิงห์บลู’ ยังคงยึดคอนเซปท์เดิมด้วยการมองเป้าหมายอายุน้อยเป็นหลัก เนื่องจาก เชลซี เล็งเห็นถึงมูลค่าของเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงไม่ต้องแปลกใจที่ช่วงนี้ยอมทุ่มเงินไปกับดาวเตะ U23 เสียเยอะ และรายของ โทซิน อดาราบิโอโย่ (26) ที่อายุเกินแล้วก็เป็นการคว้ามาแบบไร้ค่าตัว
งานขายที่เขี้ยวลากดินมากขึ้น กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงเดียวในเรื่องนโยบาย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม เพราะทีมบริหารชุดนี้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินดีอยู่แล้ว พอได้ลองหกล้มคลุกคลาน กระดูก กระเดี้ยว มันก็แข็งข้อขึ้นนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่พร้อมจะจ่ายค่าตัวมหาศาลให้กับลายเซ็นของ เอียน แมตต์เซ่น ดาวเตะตีนซ้ายสารพัดประโยชน์จากอคาเดมี่ เชลซี ก็ไม่สนใจ และเลือกที่จะปล่อยตัวให้ แอสตัน วิลล่า โดยใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุไปดึงตัว โอมาริ เคลลี่แมน มิดฟิลด์ตัวรุกวัย 18 ปี มาก่อนสิ้นเดือนนี้ เพื่อพยุงหน้าบัญชีการเงินของ ‘สิงห์ผงาด’ ในกฎ Financial Fair Play ก่อนจะขาย แมตต์เซ่น กลับไปในราคาที่สูงกว่า ดอร์ทมุนด์ ยื่นมาให้
เป็นการซื้อใจสโมสรร่วมลีก น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า สร้างสัมพันธไมตรีภายในประเทศที่แฟนบอลเห็นพ้องด้วย หลังจากนี้คงมีดีลระหว่าง ‘สองสิงห์’ ให้เห็นกันบ่อยขึ้นแหละครับ
อีกกรณีหนึ่งคือ นาโปลี สนใจในตัวของ โรเมลู ลูกากู กองหน้าคู่บุญของกุนซือคนใหม่พวกเขาอย่าง อันโตนีโอ คอนเต้ เมื่อมาดูงบในธนาคารแล้วพบว่า พวกเขาจำเป็นต้องขาย วิคเตอร์ โอซิมเฮน ดาวยิงค่าตัวแรงฉิบผายออกก่อน ซึ่งแน่นอน เชลซี ไม่สนใจจะแลกกับดีลนี้ หากคุณชอบ ลูกากู ก็จงจ่ายมาด้วยเงินสด มิเช่นนั้น ‘บิ๊กตู้’ จะถูกปล่อยออกไปให้ทีมอื่นอย่างไม่แคร์ความสัมพันธ์
ก็จะให้ไปสานมิตรกับสโมสรที่ชอบขูดเลือดขูดเนื้อเราทำไมกัน? อันนี้ผมก็เห็นด้วยนะ ไม่มีความจำเป็นต้องถูกใครเอาเปรียบอีกแล้ว
เรื่องต่อไปที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างจากยุคของ โรมัน อับราโมวิช ชัดเจน คือ โค้ชจะไม่มีส่วนร่วมใดใดกับการบริหารทีม ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจก่อนว่า ผู้จัดการทีมชุดใหญ่ จะมีหน้าที่ในการออกสิทธิ์ ออกเสียง เพื่อดูแลภาพรวมและภาพลักษณ์สโมสรด้วย แต่ เชลซี จะปรับเป็นระบบ ‘โค้ชทีมชุดใหญ่’ เพื่อลดทอนอำนาจ และสร้างอนาคตที่มั่นคงจากโครงสร้างทีม ไม่พึ่งความสามารถเฉพาะตัวของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น โจเซ่ มูรินโญ่ และ โธมัส ทูเคิ่ล ต่างเป็นกุนซือที่มีสไตล์การทำทีมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และ เชลซี ยุคก่อนก็พร้อมเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของหัวเรือใหญ่เหล่านั้น ทว่ายุคนี้จะไม่ใช่ โค้ชทุกคนที่จะเข้ามาต้องมีปรัชญาและแนวคิดคล้ายคลึงกับบอร์ดบริหาร การสร้างทีมระยะยาว จะเสียทีมงานคนใดไปก็หาบุคลากรที่มีไอเดียแบบเดียวกันเข้ามาแทนที่
โมเดลนี้เป็นโมเดลเดียวกับหลายสโมสรในปัจจุบันนะครับ เช่น ลิเวอร์พูล ของกลุ่ม Fenway Sports Group หรือ ไบรท์ตัน ของมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ โทนี่ บลูม
เท่ากับว่า เอ็นโซ มาเรสกา ที่เพิ่งเข้ามากุมบังเหียน เชลซี จะไม่มีเสรีภาพในการจิ้มเลือกผู้เล่นเหมือนที่ผ่านมา เขาจะต้องรีเควสระบุตำแหน่งของผู้เล่นที่อยากได้ตัว ทำเอกสารเจาะจงถึงเหตุผล คาแร็คเตอร์ ทักษะในสนาม และแนวทางที่จะใช้งานผู้เล่นคนนั้น ไปให้กับทีมแมวมอง เพื่อนำไปสู่การควานหาตัวที่ใช่ที่สุดสัก 4-5 รายชื่อ แล้วค่อยมาจิ้มเลือกกัน
แต่ว่าทั้งหมด…ต้องผ่านสายตาของบอร์ดบริหารก่อนนะ!
และเรื่องสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลง คือ เพดานค่าเหนื่อยนักเตะ แม้ว่าพวกเขาจะทุ่มเงินมหาศาลในการจับจ่ายใช้สอยในแต่ละตลาด แต่เรื่องที่ไม่น่าเชื่อคือ เงินเดือนผู้เล่นกลับน้อยมากเมื่อเทียบกับสโมสรรอบตัว หรือจะสโมสรตัวเองในยุค ‘เสี่ยหมี’ ก้ได้
เชลซี (2023/24) มอยส์ ไกเซโด (£150,000), มิคายโล่ มูดริค (£100,000), เบอนัวต์ บาเดียชิล (£90,000), โคล พาลเมอร์ (£75,000), นิโกลาส แจ็คสัน (£65,000), โรมีโอ ลาเวีย (£45,000) และ ยอร์เย เปโตรวิช (£25,000)
เชลซี (2020/21) โรเมลู ลูกากู (£325,000), เอ็นโกโล ก็องเต้ (£290,000), ติโม แวร์เนอร์ (£270,000), ไค ฮาแวตซ์ (£250,000), ซาอูล ญีเกซ (£198,000), คาลัม ฮัดสัน โอดอย (£180,000) และ มาลัง ซาร์ (£120,000)
ใช่ครับ เราอาจมีความสำเร็จในการคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก สมัยที่ 2 แต่มันก็การันตียากว่า เชลซี ชุดปัจจุบัน จะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้ มีหลายทีมเลยนะที่ทะลุเข้าถึงรอบชิงดำได้เป็นอย่างน้อยในเกมยุโรป โดยที่พวกเขาก็ไม่ใช่ทีมถังข้าวสารเสียเมื่อไร
เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว บางทีการยอมจ่ายเงินมหาศาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเงินกินเปล่าที่ เชลซี ยอมเสียไป เพื่อรักษาสมดุลของเพดานค่าเหนื่อยในสโมสร ให้เหล่านักเตะรู้ตัวว่า คุณจะเก่ง, มีชื่อเสียง หรือเป็นที่ต้องการมากแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะมาทำตัวใหญ่กว่าสโมสรนะ ก้มหัวดูเงาตัวเองให้ตลอดว่า ได้เงินรายสัปดาห์เท่านี้ก็มากโขแล้ว…!!
ผมไม่อาจออกความเห็นได้ว่า การกระทำส่วนนี้จะถือว่าดีกว่าเดิมหรือไม่? เราสามารถตีความถึงการเป็นดาบสองคมได้เหมือนกัน เช่น ความทุ่มเทและการที่ต้องมาแบกรับความกดดันทั่วทุกสารทิศ แลกกับเงินเดือนน้อยกว่าที่ทำงานอื่น มันจะทำให้นักเตะมีใจและพร้อมถวายหัวให้สโมสรบ้างหรือไม่?
เอาเท่าที่เห็นก็รู้สึกว่า “ไม่ได้มีผลเสียอะไร” เพียงแค่บางนัดการจัดตัวของผู้จัดการทีมยังไม่เข้าตา หรือโชคยังไม่เข้าข้างในกรณีลูกยิงติดว่าวของ นิโกลาส แจ็คสัน มากกว่า
ผมคิดว่าผมเอ็นจอยกับโครงสร้างสโมสรใหม่อันนี้นะครับ ก็ได้แต่หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็พอพูดได้ว่า ทีมบริหารชุดนี้ทุ่มเทเต็มที่แหละ มันแค่ยังไม่ผลิดอกออกผล.
เรียบเรียงโดย The Lite Team
LS Sport ข่าวกีฬาคนรุ่นใหม่ 24 ชั่วโมง