สภาลูกหนัง: อังกฤษชุดเล็ก เก่งทุกตัวในเวทีโรงเรียน
ความเก่งกาจก่อนถึงช่วงอายุที่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักทีมชาติชุดใหญ่ ไม่ได้บ่งบอกถึงความงดงามที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางอาชีพค้าแข้งจริง ๆ เอาล่ะ ไหน ๆ บอลชุด U19 และ U21 ก็เตะไม่เว้นแต่ละวันแล้ว เรามาพูดถึงกันหน่อย
ทีมชาติอังกฤษในชุดเยาวชน ถือเป็นหนึ่งในชุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจากบรรดานานาชาติ โดยเฉพาะชุด U21 หรืออายุไม่เกิน 21 ปี ที่คว้าแชมป์ยูโร U21 ไปครองถึง 5 สมัย
หลายครั้งหลายคราที่แฟนบอลมักโจมตีด้วยถ้อยคำสบถหยาบคาย ถึงการทำงานที่ไม่มีจรรยาบรรณของสื่อเมืองผู้ดี อีกนัยหนึ่ง กูรูและนักวิจารณ์หลายท่านก็ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การอวยนักเตะสัญชาติอังกฤษ หรือกระทั่งในเครือสหราชอาณาจักร เกินความเป็นจริง ก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านลบมากกว่าเดิม
แต่ถามว่า นักข่าวอวยจริงหรือ? เพราะหากนับดูโทรฟี่ประดับตู้ในแต่ละระลอกแล้ว ก็ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่นะ
ยกตัวอย่างแข้งชื่อดัง ที่ทำผลงานได้เวอร์วังอลังการในระดับบอลเยาวชน อย่าง เอ็ดดี้ เอ็นเคเทียห์ เขาซัดไป 16 ประตู จากการลงสนามเพียง 17 นัด ในช่วงปี 2018-2021 ซึ่งหากคุณนับอายุของ ‘เอ็นข้อไก่’ ดู คุณจะพบว่าเขาลงเล่นข้ามรุ่นไปไกลถึง 2-3 ปี
ในเมื่ออายุพ้นเกณฑ์ ถึงวัยบรรลุนิติภาวะแบบเต็มตัว ชายหนุ่มที่เคยถูกยกให้สืบทอด ‘หมายเลข 14’ ของ ‘เดอะ คิง’ เธียร์รี่ อองรี ในสโมสรฟุตบอลอาร์เซน่อล กลับไม่สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงจาก กาเบรียล เฆซุส ที่ก็ไม่ใช่เพชฌฆาตชั้นแนวหน้าของบอล 5 ลีกใหญ่อะไร สรุปแล้วมันผิดที่ตัวนักข่าว หรือตัวนักเตะแบกความกดดันไม่ได้กันแน่?
ย้อนกลับไปอีกหน่อย ผมเคยตามดูฟอร์มการเล่นของ นาธาน เรดมอนด์ ตั้งแต่สมัยอยู่กับ นอริช ซิตี้ ด้วยความเร็วและความมั่นใจก็ยังแอบคิดว่าจะก้าวไปเซ็นสัญญากับทีมใหญ่ได้ไม่ยาก และสุดท้ายสายตาผมก็ผิดพลาดไป
นี่ยังไม่นับ ซาอิโด เบราฮิโน่, โดมินิค โซลันกี้, แทมมี่ อับราฮัม และดาวยิงสิงห์สนามซ้อมคนอื่น ๆ ที่เราต่างเคยคาดหวังกันมาก่อนนะ เพราะสุดท้าย ‘ทรีไลอ้อน’ มักไปบรรจบอยู่กับพวกทรหดม้ามืดอย่าง แฮร์รี่ เคน และ เจมี่ วาร์ดี้ เสียมากกว่า
คงต้องทนอยู่คำครหาว่า ‘สื่อจอมอวย’ กันต่อไปอีกนาน หาก อังกฤษ ยังไม่สามารถช่วยให้นักเตะชาติตัวเองหลุดพ้นจากการเก่งแค่ในเวทีโรงเรียน เพราะในสงครามจริงน่ะ ไม่มีที่ว่างให้เด็กที่มีดีแค่หัวหรอกนะ.
เขียนโดย What The Fluke
The Lite Team.