สภาลูกหนัง! กติกา ‘ล้ำหน้า’ แบบใหม่ ‘ใครได้ประโยชน์’??
ว่ากันว่า “ผู้ใดสามารถอธิบายกติกาล้ำหน้า ให้กับคนที่ไม่ดูฟุตบอลเข้าใจได้ นับว่าเป็นอัจฉริยะ” ก็แหงล่ะครับ ฟีฟ่า ท่านเปลี่ยนกฎบ่อยอย่างกับกติกาเลือกตั้ง
ผมยอมรับเลยนะครับว่า ตัวเองไม่ได้ปราดเปรื่องพอที่จะอธิบายว่า ลูกไหนล้ำหน้า ลูกไหนไม่ล้ำหน้า ด้วยเหตุผลอะไร โดยเฉพาะที่ต้องมาพิมพ์เป็นตัวหนังสือแบบนี้ แต่หลักๆแล้วจุดประสงค์ของกติกานี้ เกิดขึ้นมา เพื่อไม่ให้ฝ่ายบุกทำประตูได้ง่ายเกินไป ไม่อย่างนั้นแล้วแฟนบอลคงได้เห็นนักเตะอย่าง ฟิลิปโป้ อินซากี้ ไปยืนประกบนายทวารแล้วรอยิงอย่างเดียว
กฎล้ำหน้ามีขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 1863 หรือ 67 ปี ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรกที่ประเทศอุรุกวัยในปี 1930 ซึ่งถ้าหากจะเทียบกับประเทศไทยเราแล้วล่ะก็ เพิ่งอยู่กันในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งสมัยที่สุนทรภู่ กำลังแต่งกาพย์แห่เรืออยู่
กติกาในช่วงนั้นมีอยู่ว่า ผู้เล่นฝั่งทีมบุกต้องอยู่ด้านหลังฝั่งเกมรับเท่านั้น ถึงจะไม่ถือว่าล้ำหน้า จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงในปี 1990 ที่ปรับให้ฝ่ายที่กำลังพยายามทำประตูยืนในไลน์เดียวกันได้
จนกระทั่งล่าสุด ฟีฟ่า ได้ออกมาประกาศกติกาใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะทดลองใช้ก่อนในลีกระดับ ยู-21 ของประเทศอิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และ สวีเดน ที่ว่าหากฝั่งบุก มีส่วนใดส่วนหนึ่ง อยู่ในระดับเดียวกับ ฝั่งรับ จะถือว่าไม่ล้ำหน้า
มองมุมไหน นี่ก็เข้าทางกองหน้าตัวจี๊ดเต็มๆ เพราะขอแค่เล็บขบไม่ล้ำ มันก็ได้ประตูแล้ว ส่วนบรรดากองหลังทั้งหลาย คงต้องปวดหัวว่าจะเช็คล้ำหน้ายังไงให้พ้น หรือบางทีอาจกระทบถึงแท็คติคทีม ที่ต้องปรับวิธีการเล่นเนื่องจากไอเดียบรรเจิดของ อาร์แซน เวนเกอร์ ที่เป็นผู้เสนอรูปแบบนี้เข้าไป นี่คงอยากจะให้ยิงกันเป็นหนังอาหลองเลยสินะ มีไก่ย่างหรือยังล่ะจ้ะ
แต่อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยนะครับ ไอ้กฎบ้านี่ไม่ได้มาตรฐานอะไรหรอก สมัยก่อนยังพอเข้าใจ เพราะใช้คนตัดสิน แต่ปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีมาช่วย สุดท้ายก็ไม่พ้นดุลพินิจป่วยๆของกรรมการเฮงซวย อย่างกับพวก ‘ของดออกเสียง’ ในบางประเทศอยู่ดีครับ
เขียนโดย The Lite Team.