ปัญหาของนักฟุตบอลเยาวชน การก้าวผ่านจากเด็กสู่วัยรุ่น จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เส้นทางสู่การเป็นนักกีฬาฟุตบอลมืออาชีพ ร้อยทั้งร้อย ทุกคนที่ผ่านมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็นแข้งระดับโปรแล้ว ไม่ว่าจะระดับชาติ หรือระดับโลก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เส้นทางนี้ “ไม่ง่ายเลย” พวกเขาแต่ละคน ต้องเคยผ่านอุปสรรคในชีวิตระหว่างการเดินทางสู่ความฝันมาบ้างไม่มากก็น้อย
ก่อนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพเต็มตัวได้ ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องผ่านมันไปก็คือ การเปลี่ยนผ่านในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีความสำคัญมาก แม้ความรักในฟุตบอลไม่เคยเปลี่ยนไป แต่วันเวลาและสรีระทางร่างกาย รวมถึงความแปรปรวนทางภาวะจิตใจ อารมณ์ และสิ่งเร้าจากภายนอก ย่อมส่งผลต่อคนๆหนึ่งได้มหาศาล
เด็กนักฟุตบอลเยาวชนตัวจ้อย ผอมแห้งแรงน้อยแต่วิ่งเร็วและว่องไว เมื่ออายุมากขึ้น ศักยภาพเดิมที่เคยมี หนุ่มน้อยผู้เคยเป็นที่ชื่นชมของโค้ชและแฟนบอล อาจกลายเป็นจุดอ่อน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับรุ่นอายุและความหนักหน่วงของการแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้น หรืออาจเป็น เด็กนักฟุตบอลที่มีพรสวรรค์สูง ดาวเด่นในสนาม เป็นที่ต้องการตัวของทีมอื่นๆ แต่กลับต้องประสบกับอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขัน ทำให้ต้องพักรักษาตัวยาวนาน จิตใจค่อยๆห่อเหี่ยวลงเพราะวันๆได้แต่นั่งดูเพื่อนเล่น ไม่มีกำลังใจในการกลับมาฝึกซ้อม และพอถึงเวลาได้กลับมาเล่น ก็กลับสูญเสียพรสวรรค์นั้นไป ไม่รู้ว่าจะเรียกคืนมาได้อย่างไร
นี่คือตัวอย่างของการที่จิตใจและร่างกาย มีผลอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต และทัศนคติในเชิงกีฬา นอกจากนี้ อีกเรื่องที่นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของเด็กสมัยนี้คือ โซเชียลมีเดีย
ในยุโรป อะคาเดมีหลายๆแห่ง มีการพิจารณาเรื่องของการจำกัดการใช้สื่อ โซเชียลมีเดียของนักฟุตบอลเยาวชนในอะคาเดมีของตนอย่างเข้มงวด ทั้งกับเจ้าหน้าที่สต๊าฟโค้ช ครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัวนักเตะ รวมถึงตัวของนักเตะเองด้วย เช่น ห้ามโพสต์รูปหรือข้อความใดๆที่เกี่ยวกับตัวนักเตะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสโมสร หรือห้ามนักเตะใช้โซเชียลในการโปรโมทตัวเอง เป็นต้น
เหล่านี้ถือเป็นกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ป้องกันไม่ให้เอาชื่อเสียงนักเตะไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ที่ต้องเข้มเพราะว่า เด็กวัยนี้จะมีความคิดในเชิงต่อต้านสูง ขณะเดียวกันก็มีความอ่อนไหวทางอารมณ์อย่างมาก แต่ก็ขาดประสบการณ์ จึงมีโอกาสสูงที่จะทำผิดพลาดจนอาจหมดโอกาสที่จะก้าวเดินต่อสู่ระดับมืออาชีพได้
เคยมีหลายๆกรณีที่เด็กเหล่านี้ เจอการถูกบูลลี่ทางโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นปัญหาทั้งในการเรียน และการฝึกซ้อม หรือ เด็กบางคนติดเกมและโซเชียลมากเกินไป จนไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ กลายเป็นปัญหาในห้องเรียน สมาธิสั้น เหนื่อยล้าตลอดเวลา พอมาซ้อมก็ไม่ฟิตมากพอ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเล่นตกต่ำลง บางคนแคร์โซเชียลเกินไป พอไปเจอเกมที่หนัก แล้วแพ้ เมื่อโดนแฟนบอลกระหน่ำคอมเม้นต์แรงๆเข้า ก็หมดกำลังใจ ไปต่อไม่เป็น
ส่วนบางคนก็เข้าใจว่า การได้เล่นฟุตบอลในระดับอะคาเดมีแล้ว จะมีโอกาสสูงที่จะได้ขึ้นเล่นเป็นตัวจริงในทีมชุดใหญ่ จึงเอาเรื่องของตัวเองลงโซเชียล เรียกไลค์ เรียกฟอล แต่กลายเป็นโฟกัสผิดจุด เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ มักทำให้ผู้ใหญ่ในทีมไม่ปลื้ม บางครั้งคอนเทนต์ที่เอาลงอาจไม่เหมาะสม แสดงให้เห็นถึงความไม่มุ่งมั่นในการฝึกซ้อม มัวแต่เอาเวลาไปเล่นโซเชียล เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆที่เป็นความท้าทายของนักฟุตบอลในวัยนี้ ได้แก่ เรื่องความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม และเรื่องการดูแลจัดการทรัพย์สินรายได้ของตนเอง ซึ่งสองเรื่องที่ว่ามา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับมนุษย์โดยทั่วไปอยู่แล้ว สำหรับนักเตะเยาวชนก็ไม่ต่างกัน มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพลกับจิตใจ และพฤติกรรมวัยรุ่นโดยตรง หากไม่ได้รับการดูแล และกำหนดข้อตกลงร่วมกัน ที่จะส่งเสริมให้คุณภาพนักเตะเหล่านี้ สามารถไปต่อได้ ก็อาจเป็นการดูแลเพียงแค่ ผลประโยชน์จากการเป็นนักเตะที่เก่งในสนาม แต่เอาตัวไม่รอดเมื่อต้องใช้ชีวิตนอกสนามก็เป็นได้
ดังนั้น ทางสโมสร นอกจากจะมีการตั้งกฎข้อบังคับในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน และแจ้งกับทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว อีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยดูแลก็คือ นักจิตวิทยาการกีฬา ที่ต้องคอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของนักเตะเยาวชนเหล่านี้อยู่เสมอ เพื่อดูสภาพจิตใจ และคอยให้คำแนะนำ โดยมุ่งหวังให้พวกเขามีความสุขทั้งในและนอกสนาม
นี่เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพองค์รวมของนักเตะ ให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงของวัย ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่และมืออาชีพอย่างเต็มตัว.
เขียนโดย Saito Hajime.
The Lite Team.